แนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคร้ายแรงและโรคที่คุกคามต่อชีวิตเพิ่มสูงขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ในขณะที่สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะความเจ็บป่วย คุณภาพชีวิต และภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็นำมาสู่การรักษาหรือช่วยชีวิตผู้ป่วยให้สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ทำให้เกิดการรักษาที่ยาวนานยืดเยื้อ และเมื่อโรคเข้าสู่ระยะสุดท้าย การปกป้องชีวิตด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ประกอบกับความเชื่อของผู้ป่วยและครอบครัว การขาดทัศนคติที่ดีของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวกับความตายและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมักจะทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยทั้งในส่วนที่เกิดจากตัวโรคเองและจากการรักษาที่ไม่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การฝืนวงจรชีวิตที่เป็นธรรมชาติของชีวิต ทำให้การตายที่ควรเป็นไปอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ กลับกลายเป็นการตายอย่างทุกข์ทรมานของทั้งตนเองและครอบครัว รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นส่วนหนึ่งของระบบการดูแลแบบประคับประคอง พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ มาตรา ๑๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตาย ในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฏกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
ความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อจะรับรองสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง (right to self-determination) เรื่องการตายอย่างสงบตามธรรมชาติ โดยหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขตาม มาตรา ๑๒ ดังกล่าว นับเป็นหัวใจสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่จะช่วยให้บุคคลเผชิญวาระสุดท้ายแห่งชีวิตอย่างสง่างาม และมีเจตจำนงในการเลือกที่จะตายดี โดยดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างที่สมควรจะเป็น เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติและฝ่ายผู้ให้การรักษา ให้มีความเข้าใจตรงกันในความต้องการของผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้วซึ่งเนื้อหาในหนังสือแสดงเจตนาถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ระบุความประสงค์ของผู้ทำหนังสือที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลหรือความต้องการอื่นๆ ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต
ปี พ.ศ.๒๕๕๙ และปี พ.ศ.๒๕๖๑ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ องค์กรภาคีเครือข่าย จัดการประชุม “สร้างสุขที่ปลายทาง” ขึ้น เพื่อนำไปสู่การยกระดับการรับรู้ของสังคมในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย ประชาชนทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สังคมศาสตร์และกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสื่อมวลชน ให้ความสนใจและมีความพึงพอใจในระดับมาก
การจัดประชุม “สร้างสุขที่ปลายทาง ” ครั้งที่ ๓ ในปีพ.ศ.๒๕๖๓ ได้ออกแบบการจัดงานและขยายขอบเขตของวัตถุประสงค์ของการจัดงานและกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปสู่ระบบการบริการสุขภาพทั้งในระดับนโยบายและระดับการปฎิบัติการ โดยจัดกิจกรรมสื่อสารเชิงนโยบายระหว่างผู้บริหารในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ ๓ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดกระบวนการการสื่อสารทางสังคม เพื่อยกระดับการรับรู้ของสังคมไทยในเรื่องการเตรียมความพร้อมของชีวิตในวาระสุดท้าย ตามเจตนารมณ์ของ มาตรา ๑๒ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดย สร้างความรู้ความเข้าใจและเปิดโลกความรู้เกี่ยวกับสิทธิฯ ร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพภาครัฐ วิชาการและประชาสังคม
กิจกรรมในห้องประชุม วันที่ 20 ก.พ. 2563
• ปาฐกถาเปิด “สร้างสุขที่ปลายทาง ภารกิจร่วมของทุกภาคส่วน” โดย ดร.สาทิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
• นโยบายการขับเคลื่อนระบบการดูแลแบบประคับประคอง และสิทธิด้านสุขภาพตามมาตรา ๑๒ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ โดย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
• การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ กรณีบ้านปันรัก โดย อจ.อ้อย-ดร.กมลพร สกุลพงศ์
• การดูแลจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้ดูแล โดย แม่แอ้-คุณพรวรินทร์ นุตราวงศ์
• การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน โดย คุณอภิชญา วรพันธ์
กิจกรรมในห้องประชุม วันที่ 21 ก.พ.2563
• เสวนา “การเตรียมชีวิตในวาระสุดท้าย มุมมองสายศิลปิน” โดย คุณศุ บุญเลี้ยง ศิลปิน/นักเขียน และ คุณเต๋อ-คุณนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Die Tomorrow
• การสร้างความหวังและความสุขในชีวิตระยะสุดท้าย โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร
• บอกข่าวร้ายอย่างไรให้น่าฟัง โดย นาวาเอก นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์
• การรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ในวาระสุดท้ายของชีวิต โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์
• ปาฐกถาปิด “สร้างสุขที่ปลายทางของชีวิต” โดย ดร.นพ.มโน เลาหวณิช
พบหลากหลายกิจกรรมนอกห้องประชุมที่น่าสนใจ
o ลานนิทรรศการเตรียมชีวิตเพื่อการตายดี 4 มิติ กาย-ใจ-สังคม-จิตวิญญาณ
o Workshop “สมุดเบาใจ: การแสดงเจตนาล่วงหน้าในวาระสุดท้ายของชีวิต”
o มุมศิลปะ : ภาพ(อยากให้)จำของผู้ป่วยระยะท้ายและข้อความ
o ห้องภาวนา: จำลองสถานการณ์หากคุณเป็นผู้ป่วยระยะท้าย,
o การแสดงดนตรีภาวนา โดย ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ & The Ema Datshi Band
o ภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับการตายดี
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147
Attachment | Size |
---|---|
agenda20_21feb63V16.pdf | 214.62 KB |