การุณยฆาต ทำได้เพียงใด ในกฎหมายไทย

   ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง คือ ศ.ดร.เดวิด กูลดัล (Prof.Dr.David Goodall) อายุ 104 ปี ได้เดินทางไปที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อทำการการุณยฆาต (Mercy killing)

 
   ซึ่งตามกฎหมายของสวิสเซอร์แลนด์อนุญาตให้ทำได้ ข่าวดังกล่าวสร้างความสนใจให้กับคนในสังคมอย่างมาก และตั้งคำถามว่าตามกฎหมายไทยทำได้หรือไม่ บทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จะครอบคลุมกรณีนี้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแง่มุมของกฎหมาย จึงขอทำความเข้าใจมาตรา 12 อีกครั้งหนึ่ง ดังต่อไปนี้
 
   มาตรา 12 บัญญัติว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
 
   การดำเนินการตามหนังสือแสดง เจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
   เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
 
   หากพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าว จะพบว่ามาตรา 12 เป็นเรื่องที่เปิดโอกาสให้บุคคลสามารถแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่า เมื่ออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตขอจากไปตามวิถีธรรมชาติ โดยไม่ประสงค์จะให้ใช้เครื่องมือต่างๆมายืดความตายออกไป คือ ขอใช้สิทธิตายตามธรรมชาตินั่นเอง แต่ไม่ใช่การอนุญาตให้ทำการุณยฆาต คือ เร่งให้ตายเร็วเข้า เจตนารมณ์ของกฎหมายในมาตรา 12 คือไม่ประสงค์ให้ยืดความตายออกไป แต่ก็ไม่ใช่เร่งการตายให้เร็วเข้า
 
   สำหรับศัพท์คำว่า “การุณยฆาต” ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Mercy killing ถ้าค้นคว้าลงไปในรากศัพท์ จะพบว่าภาษาอังกฤษแปลมาจากภาษากรีกอีกทีหนึ่ง โดยศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Euthanasia อันเป็นที่มาของคำว่า Mercy killing แปลมาจากภาษากรีกคำว่า Eu + thanatos ซึ่งความหมายเดิมคือ good death คือ การตายดี ซึ่งกระทำได้ 2 แบบ
 
   แบบที่หนึ่งคือช่วยให้เขาเสียชีวิตเร็วเข้าเพื่อให้พ้นจากอาการทุกข์ทรมานจากโรคที่รุมเร้าอยู่ ซึ่งก็คือการกระทำที่เรียกว่า Mercy killing หรือการุณยฆาต วิธีการแบบนี้โดยหลักกฎหมายและจริยธรรมโดยทั่วไป ยังไม่เป็นที่ยอมรับให้ทำได้ เว้นแต่บางประเทศที่มีกฎหมายออกมารองรับโดยเฉพาะ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา เช่น วอชิงตัน โอเรกอน แคลิฟอเนียร์ โคโรราโด ที่มีกฎหมายอนุญาตให้กระทำการดังกล่าวได้
 
   แบบที่สองที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบตามวิถีธรรมชาติก็คือไม่ยืดความตายหรือยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือต่างๆจากเทคโนโลยี เช่น การใส่เครื่องช่วยหายใจทางปาก การเจาะคอ การปั้มหัวใจในวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ยังคงให้การดูแลแบบประคับประคอง(Palliative care) ที่มุ่งดูแลตามอาการ เช่น ให้ยาช่วยหายใจโดยไม่ต้องใช้เครื่อง ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้ผู้ป่วย ดูแลด้านอื่นๆทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยและญาติด้วย ซึ่งประเทศต่างๆส่วนใหญ่จะมีกฎหมายรองรับในเรื่องดังกล่าว สำหรับประเทศไทยการบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ก็เพื่อรองรับแนวคิดนี้ โดยให้บุคคลสามารถเขียนความต้องการไว้ล่วงหน้าซึ่งก็คือ การเขียน Living will หรือ Advance directive นั่นเอง
 
   ส่วนแนวคิดที่ประเทศไทยจะพัฒนากฎหมายจนถึงขั้นให้ทำการุณยฆาตได้นั้นคงจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจร่วมกันอีกมาก เพราะเกี่ยวข้องกับมิติทางการแพทย์ กฎหมาย และความเชื่อทางศาสนาด้วย เพราะแม้แต่การบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ก็ยังปรากฏว่ายังมีผู้โต้แย้งไม่เห็นด้วย แม้กระทั้งพระราชบัญญัติประกาศใช้แล้วก็ยังมีการโต้แย้งว่ากฎกระทรวงที่ออกมานั้นไม่ถูกต้อง จนศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของกฎหมายดังกล่าว
 
   แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีคนบางส่วนที่เข้าใจว่ามาตรา 12 เป็นการทำการุณยฆาตโดยเข้าใจว่าการไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจ การถอดเครื่องช่วยหายใจ เป็นการเร่งการตายต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้องว่าการไม่ใส่ท่อหรือเครื่องช่วยหายใจ การถอดเครื่องช่วยหายใจ คือการขอจากไปตามธรรมชาติ
 
   กล่าวโดยสรุป กรณีของ ศ.ดร.เดวิด กูลดัล ซึ่งไม่ได้ป่วยเป็นโรคใดๆ เพียงแต่ร่างกายเสื่อมทรุดลงตามวัย ต้องการที่จะจบชีวิตตนเองจึงเป็นการกระทำการุณยฆาตที่เป็นการเร่งการตายของตนเองให้เร็วขึ้นเพราะทนกับสภาพความเสื่อมโทรมของร่างกายตนเองไม่ได้ กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องการเขียนหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขตาม ม.12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เพราะเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขนั้นเป็นเรื่องขอที่จะตายตามธรรมชาติและเป็นเป็นวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องการช่วยเร่งความตายแต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งผู้ป่วยโดยไม่ทำอะไรต่อ ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแล บรรเทาอาการ บรรเทาความเจ็บปวด และเรื่องอื่นๆ เพื่อให้เกิดสุขสุดท้ายที่ปลายทาง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ: