‘สร้างสุขปลายทาง’ ครั้งที่ 3 ปักธงสร้างความเข้าใจการดูแลแบบประคับประคอง

   แม้ว่าทุกวันนี้การแพทย์จะรุดหน้าไปมาก แต่ถึงอย่างไรแล้วเราก็คงหนีไม่พ้นวาระสุดท้ายของชีวิต การเผชิญหน้ากับความตายอย่างกล้าหาญ เข้าใจ และมีศักดิ์ศรี จึงเป็นโจทย์แหลมคมที่เราควรครุ่นคิดกันตั้งแต่วันนี้
 
   คำถามคือ ในช่วงสุดท้ายก่อนจะออกเดินทางไกล เราปรารถนาที่จะเห็นตัวเองอยู่ในสภาพใด? ระหว่างการนอนอยู่ท่ามกลางสายระโยงระยางในโรงพยาบาล หรือพักผ่อนอยู่ในบ้านหลังอบอุ่นที่เราคุ้นชิน
 
   หากเราเลือกอย่างหลัง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ‘การดูแลแบบประคับประคอง’ (Palliative Care) ให้ดี เพราะนี่คือศาสตร์การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายให้มีความสุขเท่าที่เขาจะมีได้
 
   การดูแลแบบประคับประคอง เกี่ยวข้องโดยตรงกับ สิทธิด้านสุขภาพตาม ‘มาตรา 12’ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งที่ผ่านมา สังคมไทยมีการพูดถึงการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ก็ยังจำเป็นต้องพัฒนาและขับเคลื่อนการรับรู้-ความเข้าใจต่อเรื่องนี้ และนั่นคือสาระสำคัญของการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนระบบการดูแลแบบประคับประคองของประเทศไทยและสิทธิด้านสุขภาพตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน
 
   นพ.ยงยศ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนคือการสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หรือการแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาเพียงเพื่อยื้อเวลาในวาระสุดท้ายของชีวิตให้มากขึ้น และต้องนำไปสู่การปฏิบัติในทุกระดับได้ เพราะปัจจุบันยังมีความไม่เข้าใจจึงทำให้ผู้เกี่ยวข้องหลายส่วนยังไม่กล้าเดินหน้าตามกฎหมายฉบับนี้
 
   “การรักษาสุขภาพผู้ป่วยในระยะสุดท้าย เป็นสิ่งที่ทารุณผู้อยู่ต่อพอสมควรในเรื่องของค่าใช้จ่าย หากเราผนวกรวมการดูแลแบบประคับประคองเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขปัจจุบันให้มากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลได้ ซึ่งการสื่อสารเรื่องนี้สู่ผู้ป่วยและญาติให้ยอมรับความสูญเสียได้ จะเป็นมิติที่ลึกซึ้งและยกระดับการสื่อสารของผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี” รองปลัด สธ. ระบุ
 
   พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้แทนจากกรมการแพทย์ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประเมินการทำงานด้าน Palliative Care ของประเทศไทยให้อยู่ในลำดับที่ดีขึ้น จากเดิมในปี 2557 ที่อยู่ในเกณฑ์สีส้ม ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์สีเขียวอ่อนแล้ว ซึ่งตัวชีวิตสำคัญก็คือกรณีที่ประชาชนเข้าถึงยาระงับปวด Opioids ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการระงับความเจ็บปวดของผู้ป่วยระยะท้าย
 
   นายคณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน สปสช. มีความพยายามปรับระบบการชดเชยค่าบริการให้สอดคล้องกับการดูแบบประคับประคองให้มากขึ้น ตั้งแต่การชดเชยยาระงับปวด Opioids การชดเชยออกซิเจน การปรับระบบเหมาจ่ายตามระยะเวลาการดูแล เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยระยะท้ายมีสุขภาวะที่ดีที่สุดที่ร่างกายจะเอื้ออำนวยได้
 
   ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงแผนความร่วมมือในการขับเคลื่อน หนึ่งในนั้นคือการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเชิงสังคม “งานสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 3” มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 20-21 ก.พ.2563 โดยเป็นเวทีสื่อสารนโยบายของผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่จะขับเคลื่อนประเด็นนี้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ และที่ประชุมคาดหวังที่จะให้งานนี้สร้างการเรียนรู้จากการดำเนินการของพื้นที่ตัวอย่าง รวมถึงขยายการจัดเวทีย่อยตามภูมิภาค เพื่อนำเสนอประเด็นนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
 
   นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้แทนจากแพทยสภา เสนอว่า ควรมีการผลิตสื่อที่น่าสนใจ เช่น คลิปวิดีโอ รวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ เช่น ยูทูป ซึ่งสามารถสืบค้นได้ง่าย อยู่ได้นาน มีความน่าสนใจและเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง
 
   พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันหารือในประเด็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข เพื่อความเข้าใจในงาน Palliative Care และสิทธิการตาย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอบรมบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นบุคลากรที่อยู่ในสายงานด้านนี้อยู่แล้ว จึงต้องหาวิธีการใหม่เพื่อผลักดันบุคลากรในสาขาอื่นเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย ความก้าวหน้าในสายงาน (Career Path) ของบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ รวมถึงการออกแบบระบบบริการที่รองรับทั้งในด้านงบประมาณ และบุคลากร เพื่อให้การขับเคลื่อนในเรื่องนี้สามารถเป็นไปได้จริง
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สรุปว่า การดำเนินงานด้าน Palliative Care และมาตรา 12 นั้นยังคงมีรายละเอียดลึกซึ้งในด้านกฎหมายที่ต้องทำให้ชัดเจน เพื่อสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนการสื่อสารสู่สังคมนั้นคาดหวังว่าในปี 2563-2564 ประเด็นนี้จะมีการเดินหน้าในแต่ละพื้นที่โดยกลไกต่างๆ เช่น สมัชชาสุขภาพจังหวัด เป็นต้น
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ: 
หมวดหมู่: 
สร้างสุข 3