สิทธิปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต-เดลินิวส์

สิทธิปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต
เดลินิวส์ วันอาทิตย์ ที่ 30 สิงหาคม 2552 เวลา 0:00 น.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryI...

มาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ระบุไว้ว่า

“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

กฎหมายดังกล่าวถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ ไม่ทุกข์ทรมาน ไม่ต้องยืดชีวิตด้วยเครื่องมือหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์

ที่ผ่านมาเมื่อผู้ป่วยอยู่ในช่วงวาระสุดท้าย คือหัวใจจะหยุดเต้น หรือความดันตก แพทย์มักให้ยากระตุ้นหัวใจ หรือนวดหัวใจให้ จนกว่าญาติจะยินยอมให้แพทย์หยุดทำการรักษา

ประเด็นดังกล่าวได้มีการถกเถียงกันมานาน ว่าถูกหรือไม่ ที่ญาติจะมีสิทธิในชีวิตของผู้ป่วย????

หากผู้ป่วยได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพ แห่งชาติ ก็จะทำให้แพทย์สามารถปฏิบัติได้ตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย ปัญหาที่ถกเถียงกันมานานเรื่องสิทธิในชีวิตของผู้ป่วยก็จะหมดไป
และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ญาติ สามารถปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาได้ตรงตามความประสงค์ของผู้ป่วย จึงได้มีการจัดทำร่างกฎกระทรวง หลักเกณฑ์ วิธีการในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ..... ขึ้น

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ กล่าวว่า “สาระสำคัญในร่างกฎกระทรวงนี้คือ แนวทางการเขียนหนังสือแสดงเจตนาควรมีข้อมูลใดบ้างที่สามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบ หากเราไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว ผู้ที่แสดงเจตนาสามารถทำหนังสือนี้ที่ใดก็ได้ หลักเกณฑ์วิธีการให้ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาได้อย่างถูกต้องตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือ และให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานบริการสาธารณสุข”

ในการยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าว สำนักงานคณะกรรม การสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำ มาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2551 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา พร้อมกับรับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผู้แทนหน่วยงานผู้ให้บริการสาธารณสุข สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง องค์กรต่าง ๆ รวมถึงผู้แทนฝ่ายผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในวาระสุดท้าย เป็นระยะ ๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงร่างกฎกระทรวง ดังกล่าวให้รอบด้าน

หลังจากนั้นก็ได้ส่งร่างกฎกระทรวงไปยังสภาวิชาชีพและราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่ง วิทยาลัยพยาบาล สถาบันการศึกษา หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง นักกฎหมาย นักวิชาการ และประชาชนที่สนใจ มีความเห็นตอบกลับมาเกือบ 90 องค์กร

นอกจากนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างกฎกระทรวงและแนวทางปฏิบัติโดยเชิญผู้แทนสถานพยาบาล แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และประชาชนผู้สนใจ ทำความเข้าใจกับการตายในบริบททางสังคม วัฒนธรรม และสิทธิในการปฏิเสธการรักษา ทั้ง 4 ภาค มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน

นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ กล่าวว่า หลังจากที่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้รับหลักการร่างกฎกระทรวงนี้แล้ว สช.ก็จะนำไปปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติก่อนเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และส่งไปยังกฤษฎีกาก่อนจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎกระทรวงที่สมบูรณ์ต่อไป นับจากวันนี้ สช.ก็มีหน้าที่ต้อง ไปจัดทำประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานบริการสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของสถานบริการสาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ได้

“โดยหลักการคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ มีเพียงรายละเอียดในทางปฏิบัติที่ต้องทำให้ถูกต้องสอดคล้องกับเจตนาของกฎหมาย ประเด็นสำคัญคือ การเขียนหนังสือแสดงเจตนาต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้ด้วย เพราะคนเราเกิดมาไม่ได้อยู่คนเดียว ตายคนเดียว แต่มีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่น ดังนั้นเมื่อตายก็ต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย เพื่อไม่สร้างทุกข์ให้กับคนรอบข้าง” รศ.ดร.เสรี พงค์พิศ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวสรุป.

ศศิมา ดำรงสุกิจ
article@dailynews.co.th