‘ถอด-ไม่ถอด’ เครื่องช่วยหายใจ การตัดสินใจบนเส้นด้ายของชีวิต

   ปัจจุบันเกิดวิวาทะเกี่ยวกับ “เครื่องช่วยหายใจ” เนื่องจากบางส่วนมองว่าเครื่องช่วยหายใจคือ สัญลักษณ์ของการรักษาชีวิตผู้ป่วย หากถอดเครื่องเมื่อไหร่ผู้ป่วยจะตาย ขณะที่บางส่วนก็มองว่าเครื่องช่วยหายใจคือ สัญลักษณ์ของการยื้อชีวิตที่ทำให้ผู้ป่วยตายไปอย่างทุกข์ทรมาน วิวาทะนี้เริ่มจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพลวัตรของสังคมไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุและมีผู้ป่วยที่เป็นโรครักษาไม่หายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
 
   ในฐานะหน่วยงานหลักขับเคลื่อนกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อที่มีความท้าทายมาก คือ “ไม่ใส่เครื่อง-ถอดเครื่องช่วยหายใจ ทำได้เพียงใด ในระยะท้ายของชีวิต” (Withholding and withdrawing of life-sustaining treatment) โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิการตายตามธรรมชาติว่าเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนและการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้การรับรองไว้
 
   “การใส่หรือถอดเครื่องช่วยหายใจ จะต้องปฏิบัติอย่างไรและใครเป็นผู้ตัดสินใจ มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ อย่างมาก”
 
   สอดคล้องกับ ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่า ขณะนี้ต่างประเทศมีบรรทัดฐานเรื่องดังกล่าวชัดเจนว่า ผู้ป่วยสามารถร่วมวางแนวทางการรักษาและมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการแพทย์ที่ตนเองไม่ต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตได้
 
   “บุคลากรทางการแพทย์ของไทยยังวิตกในประเด็นทางกฎหมาย โดยเฉพาะการยุติการรักษาในวาระสุดท้าย ทำอย่างไรจะไม่ผิด ขณะที่นักกฎหมายส่วนมากยังขาดความรู้เรื่องการรักษา ถึงเวลาที่ควรหารือให้เกิดความเข้าใจตรงกัน”
 
   ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายกแพทยสภา บอกเล่าประสบการณ์รักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น คนไข้ระยะสุดท้ายบางรายสามารถบอกกล่าวความต้องการที่จะไม่ยื้อชีวิตในวาระท้ายของตนได้ ซึ่งกรณีนี้ไม่มีปัญหามากนัก เพราะคนไข้ตัดสินใจเอง แต่ในกรณีที่มีปัญหาคือ ในคนไข้บางรายไม่รู้สึกตัวก็ต้องให้ญาติเป็นผู้ตัดสินใจแทน ซึ่งญาติแต่ละคนจะมีมุมมองในเรื่องความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยหรือความรู้ความเข้าใจในโรคที่ผู้ป่วยเป็นคนละแบบ บางครั้งเมื่อญาติตัดสินใจไปแล้วแต่กลับมาบอกแพทย์ใหม่ว่าไม่ยินดีให้ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้วก็มี หรือบางคนก็โยงกับเรื่องสิทธิประโยชน์ เหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานของแพทย์อย่างมาก
 
   ด้าน รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จะมีทีมดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อลดความเจ็บปวดและเชื่อมต่อการรักษาให้ดีที่สุด รวมถึงต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ว่าผู้ป่วยมีโอกาสและทางเลือกอะไรบ้าง
 
   “ในแง่จริยธรรม การไม่ใส่ท่อหรือการใส่แล้วถอดออก ล้วนแล้วแต่ต้องสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะการตัดสินใจก็ไม่ใช่ขาวกับดำ ต้องค่อยๆ แสดงความคิดเห็นและสื่อสารอย่างเป็นกระบวนการ”
 
   ทั้งนี้ ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย มีกฎหมายและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการใช้เครื่องช่วยดำรงชีพว่าต้องยึดประโยชน์ผู้ป่วยเป็นสำคัญ พร้อมระลึกว่าการตายโดยไม่เจ็บปวด สมศักดิ์ศรี และเคารพผู้ป่วย เป็นตัวบ่งบอกว่าสังคมนั้น ศิวิไลซ์ แค่ไหน
 
   “โรงพยาบาลในต่างประเทศจะมี คณะกรรมการร่วม ทั้งฝ่ายบริหาร แพทย์ และฝ่ายรักษาแบบประคับประคอง มาช่วยกันตัดสินใจ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ดี แต่ในเมืองไทยยังไม่มีรูปแบบนี้”
 
   ขณะที่ นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราช มองว่าการแก้ปัญหาอาจ ‘ไม่มีสูตรสำเร็จ’ แต่ทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการมีไกด์ไลน์หรือแนวทางปฏิบัติที่ทุกฝ่ายยอมรับ ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้กระบวนการดีขึ้นและสุดท้ายคือทำให้เกิดการเรียนรู้สู่สาธารณะ โดยในส่วนแพทย์หรือบุคลากรเองก็ต้องฝึกทักษะการสื่อสารกับญาติ เมื่อต้องชี้ให้เห็นว่าทางเลือกเหลือแค่ 2 ทาง และแจ้งความจำนงว่าถ้าเกิดฉุกเฉินจะให้แพทย์ทำอย่างไร เพื่อการ Withhold หรือ Withdraw ท่อช่วยหายใจได้อย่างเหมาะสม
 
   ในส่วนข้อกังวลเรื่องการถูกฟ้องร้อง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในเวทีเสวนาล้วนเห็นตรงกันว่า ถ้าดำเนินการตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ แล้ว ไม่ถือว่าเป็นความผิด โดย ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาศาลฏีกา ระบุว่า แม้ไม่มีมาตรา 12 แพทย์ก็ตัดสินใจในแง่ของคุณธรรมและจริยธรรมได้เช่นกัน เพราะตามหลักกฎหมายอาญา พิจารณาตามเจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก หรือการปฏิบัติตามเจตจำนงผู้ป่วยที่ต้องการเสียชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ใช่เจตนางดเว้น หรือเจตนาฆ่า แค่เปลี่ยนวิธีรักษาจากยืดชีวิตเป็นประคับประคองเท่านั้น
 
   นางจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด ยกตัวอย่างประกาศแพทยสมาคมโลก ในข้อ 5 และ 6 ที่ระบุว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพดีที่สุด ควบคุมอาการต่างๆ ช่วยให้ตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี สร้างสมดุลการใช้เทคโนโลยีให้รู้สึกสบายใจทั้งคนไข้และญาติ
 
   “การทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ตาม ม.12 เช่น ไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่เจาะคอ ไม่ใช้ความรุนแรง พร้อมจะกลับบ้านเมื่อมีเงื่อนไขจำเป็น เรื่องนี้ควรทำให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริงได้ ถ้ามีหนังสือฉบับนี้ก็มั่นใจว่าแพทย์ไม่ต้องรับผิด”
 
   ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ เห็นว่าเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ นี้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของแพทย์อย่างมาก แต่การทำหนังสือต้องทำอย่างรอบคอบ ชัดเจน ระมัดระวัง ชี้แจงให้ญาติและผู้ป่วยเข้าใจ และควรประชาสัมพันธ์ให้นักกฎหมายรับรู้และเข้าใจอย่างทั่วถึงต่อไปด้วย
 
   ภาพรวมของเวทีเสวนาจึงสะท้อนให้เห็นว่ายังมีปัญหาในการตัดสินใจ ภาวะ ‘ชีวิตบนเส้นด้าย’ ซึ่งไม่กระทบเพียงผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิตด้วย ดังนั้นสังคมจึงต้องร่วมกันขบคิดและกำหนดแนวทางในเรื่องการใส่ท่อและการถอดท่อช่วยหายใจ และเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง ทั้งนี้เพื่อรองรับกับความท้าทายของสังคมไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุและมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างความชัดเจนต่อไปในอนาคต
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ: