สช. เปิดเวที “เร่งตาย VS เลือกตาย” หนุนใช้สิทธิมาตรา 12 ตายตามธรรมชาติ

   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น “เร่งตาย VS เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด?” ผงะ! ผลโพลเพจ Drama-addict พบ 95% สนับสนุนการุณยฆาต ระบุคนโหวตยังไม่รู้จักวิธีการดูแลรักษาแบบประคับประคอง ด้านที่ปรึกษาด้านสิทธิสุขภาพและอาจารย์แพทย์หนุนใช้สิทธิตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 เลือกตายตามธรรมชาติ
 
   วันนี้ (วันที่ 25 เมษายน 2562) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัด เวที สช.เจาะประเด็น “เร่งตาย VS เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด ?” ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี เพื่อให้ข้อมูลถึงทางเลือกการตายที่แตกต่างในวาระสุดท้ายของชีวิต และสะท้อนถึงการจากไปอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการใช้สิทธิมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ไปพร้อมกับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care)
 
   นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แอดมินเพจ Drama-addict กล่าวว่า หลังจากมีข่าวชายหนุ่มคนไทยเข้ารับการการุณยฆาตที่ต่างประเทศ ทางเพจจึงได้ทำโพลออนไลน์สอบถามความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ซึ่งน่าตกใจมากที่ผลการสำรวจพบว่า 95% จากกว่า 5 หมื่นความเห็นนั้นเห็นด้วยกับการการุณยฆาต โดยมีข้อสังเกตุว่าผู้ที่แสดงความเห็นยังไม่รู้จักวิธีการดูแลรักษาแบบประคับประคอง หรือ Palliative care เชื่อว่าหากคนไทยเข้าใจเรื่องดังกล่าว จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายสู่การตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นการุณยฆาตซึ่งเป็นการเร่งกระบวนการตาย
 
   “ทั้งการุณยฆาต และการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ต่างมีเป้าหมายนำไปสู่การตายอย่างมีศักดิ์ศรี ต่างกันที่การุณยฆาตเป็นการเร่งกระบวนการตาย ส่วน Palliative care เป็นการจัดการให้การเข้าสู่วาระสุดท้ายเป็นไปตามธรรมชาติอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้” จ่าพิชิตระบุ
 
   ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส กรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิสุขภาพของ สช. จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “สิทธิการตายที่มีกฎหมายรับรองทั่วโลกมี 2 แบบหลัก ได้แก่ แบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การรับรอง และแบบเร่งรัด หรือขอตายก่อนเวลา เช่น กรณีผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดต่อไปได้จึงร้องขอให้แพทย์ทำการุณยฆาต โดยปัจจุบันมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายรับรองให้สามารถกระทำได้อย่างถูกต้อง”
 
   สำหรับประเทศไทย “การตายตามธรรมชาติ” มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 รับรอง โดยให้สิทธิทุกคนสามารถ ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้ กรณีนี้ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเลือกตายอย่างสงบ โดยปราศจากการเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การเร่งตายแบบการุณยฆาต และกฎหมายยังรับรองว่าแพทย์ที่ทำตามหนังสือแสดงเจตนาฯ ของผู้ป่วยไม่มีความผิดใดๆ โดยผู้ป่วยสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน โดยส่งสำเนาเก็บในเวชระเบียนหรือมอบให้แพทย์ผู้รักษาไว้ และเมื่อเลือกที่จะใช้สิทธิการตายตามธรรมชาติ ผู้ป่วย ครอบครัว และแพทย์ จำเป็นต้องวางแผนร่วมกันที่จะดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยในวาระสุดท้ายมีความสะดวกสบายและพ้นจากความทรมานมากที่สุด
 
   ส่วน “การเร่งตาย” นั้น ประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับการทำให้ตายเร็วขึ้น ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ที่ดีหรือไม่ก็ตาม ทางกฎหมายถือว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงเข้าข่ายความผิดต่อชีวิตคือการพยายามฆ่าทุกกรณี
 
   ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิทธิแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาฯ ตามมาตรา 12 นั้นดีต่อทุกฝ่ายและสามารถทำได้ทุกคน จากประสบการณ์ตรงที่เคยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยที่ขอรับการการุณยฆาตในสหรัฐอเมริกามักจะเป็นผู้ที่มีอาการปวดรุนแรงจนทนไม่ได้ รักษาไม่หาย โดยส่วนใหญ่เป็นโรคที่ยังมีสติ แต่ร่างกายพิการ ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก และมีความเครียดสูง
 
   “แม้สังคมอเมริกันจะมีความเคารพสิทธิซึ่งกันและกันสูง แต่การขอทำการุยฆาตก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ผู้ป่วยจะต้องผ่านการประเมินทั้งจากทีมแพทย์ ทีมจิตแพทย์ ทีมจริยธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าการร้องขอไม่ได้เป็นไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และอาการป่วยก็ไม่มีแนวทางการรักษาอื่นแล้วจริงๆ เพราะหากยังมีแนวทางรักษาได้ ทีมแพทย์ก็จะโน้มน้าวให้ไปรักษาทางอื่นแทน”
 
   ทางด้าน ดีเจพี่อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์อารีกุล นักจัดรายการและโค้ชชีวิต กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการตายดีคือการเลือกเผชิญวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี ในขณะที่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่รู้สึกผิดหวัง จึงเห็นด้วยกับแนวคิดการดูแลแบบประคับประคอง เพราะเป็นทางเลือกที่ให้สิทธิผู้ป่วยตัดสินใจเลือกวาระสุดท้ายของตัวเองโดยไม่ยื้อและไม่รั้งชีวิต อีกทั้งยังเป็นทางเลือกที่ไม่ทำร้ายจิตใจของญาติหรือครอบครัวผู้ป่วยจนเกินไป
 
   “พี่อ้อยคิดว่าแนวทางนี้คือการไม่ยื้อและไม่รั้งชีวิต หากแต่ดูแลรักษาและร่วมกันประคับประคองผู้ป่วยโดยที่ต่างฝ่ายต่างมองเห็นหัวใจของกันและกัน” ดีเจพี่อ้อย กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ: