มุมมอง ‘ความตาย’ ในทัศนะ ‘คนรุ่นใหม่’

   หลายคนอาจมองว่า ‘ความตาย’ กับ “วัยหนุ่มสาว” น่าจะยังเป็นเรื่องห่างไกล หากในความจริง วัยนี้ก็ไม่ต่างจากวัยอื่น มีโอกาสอยู่ในสถานการณ์เฉียดตายได้เช่นเดียวกัน !!
 
   ดังกรณีของ “ปูเป้” ปริญลดา ศรีภัทราพันธุ์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย ซึ่งตรวจพบในวัยเพียง 17 ปี ในช่วงเวลาที่ควรใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างสนุกสนาน แต่กลับต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อทำเคมีบำบัดนับเดือน นับปี และนั่นคือจุดพลิกผัน ทำให้ “ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว” สำหรับเธอ
 
   เมื่อเวลาเฉียดตายผ่านพ้นไป วันนี้ ปูเป้ในวัย 28 กลายเป็นสาวที่มีชีวิตชีวาสดใส แต่ก็ไม่เคยลืมความเจ็บปวดและทรมานในอดีตเมื่อครั้งมะเร็งคุกคามชีวิต ส่งผลให้เธอมุ่งทำงานเชิงสังคมเพื่อให้ช่วงเวลาใกล้ตายในอดีต สร้างประโยชน์ให้ผู้คนในวัยเดียวกันที่กำลังเผชิญหน้าภาวะใกล้ตาย โดยเข้าไปให้คำปรึกษากับผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว
 
   “ความตายในความคิดของปูเป้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปแล้ว จึงอยากส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ ด้วย ด้วยการเปิดเพจ ‘ปริญลดา สาวสู้มะเร็ง’ เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อผู้ป่วยกับเป้ในฐานะที่ผ่านประสบการณ์มาแล้ว และจากการทำงานหลายปีกับผู้ป่วย พบว่า วัยรุ่นสามารถรับได้กับความตายมากกว่าคนแก่ อาจเพราะชีวิตยังไม่มีภาระให้ต้องคิดมาก”
 
   ผู้ป่วยนับร้อยคนที่ปูเป้เข้าไปคลุกคลีให้กำลังใจ ข้อมูลข่าวสารที่เธอให้กับคนไข้ก็คือการให้เขาเตรียมตัวตายเพื่อจากไปอย่างสงบ โดยเริ่มต้นพูดคุยเพื่อดูทิศทาง แนวคิด และทัศนคติ เพราะบางครอบครัวก็ไม่ได้เปิดใจเสมอไป พร้อมมอบ “สมุดเบาใจ” ให้ทุกคนได้แสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับ การเลือกรับการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือ Living will ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ให้เขาเรียนรู้ว่าหากจะตายอย่างสงบ ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่าต้องการรักษาในช่วงลมหายใจสุดท้ายอย่างไร ซึ่งบางคนก็ทำได้ทัน แต่กับบางคนความตายก็มาถึงเร็วเกินกว่าจะเตรียมตัว
 
   ปูเป้บอกว่าเมื่อทำไประยะหนึ่ง ก็พบสิ่งที่ขาดในสังคมไทยคือ ระบบการดูแลประคับประคอง (Palliative Care) มีเพียงไม่กี่โรงพยาบาลเท่านั้นที่มีระบบนี้ หรือบางโรงพยาบาลมีแต่ก็ไม่พอ อาทิ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีเพียง 6 เตียง และมีเงื่อนไขว่าเฉพาะกรณีต้องตายภายใน 3 วันด้วย ขณะเดียวกันหมอที่เรียนมาทางด้านนี้ก็มีน้อยมาก
 
   การรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยเดินไปสู่ความตายอย่างสงบ เป็นช่วงเวลาอ่อนไหวจึงต้องใช้ทักษะความรู้ แต่การทำงานอาสาของเธอที่ผ่านมายังช่วยไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ปูเป้จึงเลือกเส้นทางใหม่คือไปเรียนหลักสูตรการดูแลประคับประคองที่สหรัฐอเมริกา
 
   เธอหวังว่า 2 ปีที่ได้ร่ำเรียนอย่างจริงจัง จะกลับมาเป็นส่วนสำคัญทำให้ประเทศไทยมีระบบนี้อย่างจริงจังและถูกต้องตามหลักวิชา
 
   “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในไทยตอนนี้ คือรักษาไม่ได้ก็จบกันไป ไม่มีระบบรองรับว่าจะดูแลกันต่ออย่างไร เพราะหลายรายไม่ได้ตายทันที ขณะที่หลายประเทศมีโรงพยาบาลที่ดูแลประคับประคองโดยเฉพาะจำนวนมาก”
 
   เมื่อความตายสำหรับปูเป้ คือการเตรียมตัวและวางแผน ครอบครัวของเธอทำเป็นตัวอย่างแล้ว ทั้งพ่อแม่และตนเองจะเขียนหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อแสดงความประสงค์ว่า เมื่อลมหายใจสุดท้ายใกล้เข้ามาจะให้รักษาแค่ไหนอย่างไร แม้แต่การจัดงานศพก็เขียนไว้เพื่อไม่ให้เป็นภาระคนข้างหลัง
 
   “ภาพวาระสุดท้ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่เสมอไปที่ต้องมีพระมาสวด ไม่เสมอไปที่ต้องตายที่บ้าน การตายที่บ้านกลับยิ่งยุ่งกว่าสำหรับเป้ เพราะมีขั้นตอนมากกว่าตายที่โรงพยาบาล และถึงเวลานั้นก็ไม่จำเป็นต้องห้อมล้อมไปด้วยคนเยอะแยะ อยากอยู่อย่างสงบๆ กับตัวเองมากกว่า เพราะเราเกิดมาคนเดียวและตายคนเดียว”
 
   ร้านกาแฟตื่นรู้ ‘มรณานุสติคาเฟ่’ คนยุค 4.0 “เข้าใจ” ความหมายของความตายได้ไม่ยาก หากชีวิตถึงจุดพลิกผันเช่นเดียวกับปูเป้ หรือไม่ก็ต้องสร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ ที่โดนใจคนกลุ่มนี้ “Death Café” หรือ “มรณานุสติคาเฟ่” ร้านกาแฟกลางซอยอารีย์สัมพันธ์ 1 กรุงเทพ เป็นอีกจุดที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในหมู่วัยเด็กไปจนถึงหนุ่มสาว เมื่อย่างเท้าเข้ามาภายในก็จะพบว่ามีสัญลักษณ์แห่งความตายให้เห็นมากมายในพื้นที่พอเหมาะ มีโครงกระดูกจำลอง ตั้งวางปะปนกับโต๊ะเก้าอี้ของร้านและโรงศพที่ให้ลูกค้าเข้าไปนอนได้ด้วย ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา แห่งมูลนิธิบ้านอารีย์ ผู้ก่อตั้ง “Death Café” เล่าที่มาที่ไปว่า การทำร้านนี้เพราะสนใจค้นหาเครื่องมือทางพุทธศาสนามาใช้ลดสถิติคอรัปชั่นและคุณแม่วัยใส ซึ่งจากการวิจัยร่วม 6-8 เดือน พบรากของ 2 ปัญหานี้มาจากความโลภ โกรธ หลง จึงคิดว่าน่าจะมีเครื่องมือทางศาสนาพุทธที่นำมาใช้ได้ โดยไม่ใช่วิธีการเดิมที่พูดถึง “นรกหรือสวรรค์” บ่อยๆ เพราะไม่ “ปัง” แล้ว จับต้องไม่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์และยุคไอทีที่ผู้คนต้องสู้กับความโลภซึ่งอยู่ตรงหน้า จึงคิดหาเครื่องมือที่เหมาะสมและการศึกษา ทำให้ไปพบเครื่องมือทางพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง นั่นคือ “มรณานุสติ” หรือความตาย ซึ่งเป็นเรื่องแน่นอนที่ใครๆ เถียงไม่ได้ พระพุทธเจ้ายังตรัสสอนไว้ว่า เมื่อนึกถึงความตายแล้วจะคลายความโลภ โกรธ ความยึดมั่นถือมั่น ทำให้ไม่รู้จะทุจริตไปทำไม อันจะส่งผลให้สถิติอาชญากรรมก็จะลดลงไปด้วย ขณะเดียวกันก็นำเรื่อง ไทยแลนด์ 4.0 มาวิเคราะห์ ก็พบว่าเป็นสังคมเชิงสัญลักษณ์ด้วยความเร็วของอินเตอร์เน็ต ทำให้คนไม่อดทนไม่อยากใช้เวลาสื่อสารนาน เช่น สัญลักษณ์สีเสื้อ เพื่อแสดงออกทางการเมือง กระเป๋าแบรนด์เนมแสดงออกถึงสถานภาพทางสังคม รถหรูแสดงออกถึงความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นจึงนำสัญลักษณ์แห่งความตายมาประกอบในนิทรรศการของเราให้คนเรียนรู้แบบ Experience วิถีแห่งคาเฟ่ เป็นคำตอบของยุคสมัย หนุ่มสาวมักมาหาแรงบันดาลใจจากร้านกาแฟหรือขายของออนไลน์ที่คาเฟ่ จึงบูรณาการระหว่างคำสอนทางพุทธศาสนาและวิถีแห่งคาเฟ่เข้าด้วยกัน เกิดเป็น “มรณานุสติคาเฟ่” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้แบบสร้างประสบการณ์เรื่องความตาย เช่น ให้ทดลองลงไปในโรงศพจริง เพื่อให้รู้ว่าสุดท้ายทุกคนต้องนอนในนั้นและเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้เลย ให้ทดลองใส่ชุดคนแก่เพื่อเรียนรู้ว่าคนแก่มีสภาพเป็นอย่างไร เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีเรื่องประกอบอื่นๆ ที่ให้คำแนะนำไปพร้อมกัน เช่น การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ (Living Will) “ถือว่าผลตอบรับดีตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ทุกคนนึกถึงความตายทุกขณะ และพูดเรื่องความตายได้เสมอ ไม่เป็นอัปมงคลอย่างที่เราถูกบ่มเพาะกันมาหลายสิบปี ตอนนี้สารที่เราต้องการส่งไป คนนับล้านทั่วโลกได้รับไปแล้ว” ผศ.ดร.วีรณัฐ หวังว่าผู้รับสาร 10 ล้านคน อาจจะมีซัก 10,000 คนที่นึกถึงความตาย เท่ากับช่วยลดคดีได้ 10,000 คดี ลดการกินเหล้าได้ 100 คน และลดสถิติอุบัติเหตุ 100 คดี และแน่นอนว่าวัยรุ่นที่มามรณานุสติคาเฟ่จำนวนไม่น้อย พ่อแม่พามาเพราะลูกดื้อและชวนลูกมานอนในโรงศพ พอปิดฝาโลงเด็กร้องไห้เพราะเหมือนตัวเองใกล้ตาย เกิดความกลัวและคิดได้ว่า “แม่ต่างหากที่รักเค้ามากกว่าเพื่อน” นี่คือความสำเร็จของคาเฟ่แห่งนี้ ขณะเดียวกัน สารที่ส่งไปว่า ‘ความตายเป็นเรื่องพูดกันได้’ ทำให้หลายคนคลี่คลายความเชื่อที่ถูกฝังหัวมานานว่าเป็นคำต้องห้ามทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมรณานุสติคาเฟ่ช่วยให้เขาเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง “เราจุดประกายให้คนคุ้นเคยว่า ความตายไม่ใช่เรื่องอัปมงคล แต่ไม่ใช่ทำงานเดียวแล้วจะประสบผลสำเร็จ ต้องมีงานต่อเนื่องที่ขยายผลให้ได้มากขึ้น ต้องวิจัยต่อไปเพื่อทำให้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดขึ้น”
 
   ซึมซับกับความตาย..ไม่ได้น่ากลัว วัยรุ่นหลายคนที่มา “มรณานุสติคาเฟ่” ต่างประทับใจกับนิทรรศการมีชีวิต ทำให้เขาตระหนักว่าความตายอยู่ใกล้ตัวทุกขณะ และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง “โอม” วสุ ประภากุลธวัช กราฟฟิกดีไซเนอร์และอินทีเรีย อายุ 28 ปี บอกว่า เขาตระหนักแล้วว่าชีวิตคนนั้นแสนสั้น ไม่แน่นอน พรุ่งนี้จะมีชีวิตหรือไม่ก็ไม่อาจรู้ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับแรงกระทบของแต่ละคนที่มากน้อยต่างกันตามการเลี้ยงดูและประสบการณ์ “สำหรับผมแล้วจะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้นตามอายุของผม ซึ่งความคิดเรื่องความตาย มันมักจะเข้มขึ้นตามวัย” ขณะที่ “แทน” บรรณวิชญ์ สมบุญ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล อายุ 20 ปี ทดลองเข้าไปนอนในโรงศพและปิดฝาโลงนาน 3 นาที เค้าบอกว่ากลัวความตายขึ้นมาทันที และการได้อยู่ในนั้นทำให้ได้อยู่กับตัวเองอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน การที่คิดได้ว่าความตายมาใกล้ตัว ทำให้จะต้องทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ ส่วน “ตี้หลุง” วิสิฐศักดิ์ ผิวผ่อง อายุ 30 ปีข้าราชการ บอกว่า เลือกมานั่งสงบที่นี่ เพราะช่วยให้ได้คิดหาทางออกของปัญหาต่างๆ และทำให้เขากลับไปใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น ซึ่งแม้เขาเองจะเป็นคนหนึ่งที่เข้าวัดบ่อยๆ ทำให้สบายใจ แต่ปัญหายังอยู่ ดังนั้น การมรณานุสติช่วยให้ได้อยู่กับตัวเอง ได้ความสงบ ใจเย็น เห็นปลายทางที่ทุกคนต้องเจอเหมือนกันหมดนั่นคือความตาย และทำให้เขา “จะทำดีในทุกๆวัน” ที่ยังมีชีวิตอยู่
 
   เรียนเชิญผู้สนใจร่วมงาน “สร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่ 2” วันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กทม. พบกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ภาพยนตร์สั้น “ความสุขครั้งสุดท้าย”, ปาฐกถา “สร้างสุขที่ปลายทาง ภารกิจร่วมของทุกภาคส่วน”, เสวนา “การรับมือกับความตายในสังคมยุค 4.0”, เสวนา “ชัวร์ก่อนแชร์ : Living Will คือการุณยฆาตจริงหรือ?”, ปาฐกถา “การเตรียมชีวิตอย่างเป็นสุข” โดย ดร.ประมวล เพ็งจันทร์, การแสดง “ดนตรีภาวนา” โดย ศิลปิน คุณธเนศ วรากุลนุเคราะห์, เวิร์คชอป “สมุดเบาใจ: การแสดงเจตนาล่วงหน้าในวาระสุดท้ายของชีวิต”, นิทรรศการ “เตรียมชีวิตสู่การตายดี” ฯลฯ ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ โทร 085 399 9855 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.thailivingwill.in.th หรือ เฟซบุ๊ก : สุขปลายทาง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ: